ภาพประกอบจาก : https://www.facebook.com/rakkaset.nungruethail
วันนี้ Rakbankerd ขอนำเสนอ ข้อคิดเห็นจาก ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเกษตรมานาน ในฐานะนักข่าวสายเกษตร และ นักการเกษตร ผู้รู้ชัด ปฎิบัติจริงอย่างคุณ หนึ่ง หรือ หนึ่งฤทัย แพรสีทอง จากวารสารรักษ์เกษตร ที่ให้ข้อเสนอแนะไว้อย่างชัดเจนบนเฟสบุ้คส่วนตัว https://www.facebook.com/rakkaset.nungruethail ที่มีผู้ติดตามมากมาย ว่า[2]"คิดจะทำการเกษตร จงอย่ากลัวที่จะก้าว ขอแค่ใจกล้าเรียนรู้ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็จะสำเร็จได้นับตั้งแต่ก้าวแรก"
"จำได้ว่า หนึ่งเคยเขียนเรื่องนี้ไป หลายคนแชร์โพสต์ไปแล้วมีความคิดเห็นขัดแย้งกับหนึ่ง เพราะหนึ่งบอกว่า คิดจะทำเกษตรเป็นอาชีพใจต้องกล้าๆ ศึกษาให้เข้าใจแล้วก้าวเลย ไม่ต้องกลัว! ไม่ต้องขอลองก่อน 10 ต้น 20 ต้น 30 ต้น ซึ่งคนที่เห็นต่างก็มองว่าถ้าปลูกเยอะแล้วเสียหายขึ้นมาก็จะเจ๊ง! ใครจะรับผิดชอบ?"
แล้วการลองปลูก 10 ต้น 20 ต้น จะให้อะไรกับคุณบ้าง ตามความคิดเห็นจากประสบการณ์ของหนึ่งนะคะ
1. ถ้าพืชชนิดนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะให้ผลผลิต อย่างมะละกอ,มะนาว,มะกรูด หรือ พืชยืนต้นอื่นๆ คุณจะต้องใช้เวลาศึกษานานเป็นปีๆ นั่นเท่ากับว่า คุณจะเสียเวลาไปหนึ่งปีและอาจจะไม่ได้คำตอบอะไรเลย เพราะพืชที่คุณปลูกเพียงไม่กี่ต้นมันไม่สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดอะไรได้
2.การทดลองปลูกกับการปลูกจริง หรือ การปลูกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ปัญหาที่เจอในแต่ละรอบย่อมไม่เหมือนกัน แล้วการทดลองปลูกเพียง 10 ต้น 20 ต้น นี่คุณจะใช้ประสบการณ์จาก 10 ต้น 20 ต้น ที่คุณปลูกอย่างไร?
ภาพประกอบจาก : https://www.facebook.com/rakkaset.nungruethail
3.การจัดการกับปัญหา โรค - แมลง เมื่อคุณเจอกับปัญหาเรื่อง โรค- แมลง เข้ามาทำลาย จะรับมือหรือจัดการกับปัญหานี้อย่างไร? ซึ่งในการทำการเกษตรนั้นไม่อาจจะเลี่ยงได้ อย่างไรคุณก็ต้องเจอแน่ๆ การปลูกเพียงไม่กี่ต้นจะทำให้คุณไม่อยากใช้สารเคมีเข้ามาจัดการ เนื่องจากปลูกไว้น้อยต้น ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนค่า สารเคมี ปุ๋ย ยา เพราะสารเคมี ปุ๋ย ยา ที่ขายกันตามท้องตลาดนั้น เขาขายกันในปริมาณมาก ซึ่งแน่ล่ะว่ามันเยอะเกินกว่าปริมาณที่คุณจำเป็นต้องใช้ เพราะสารเคมีขวดเล็กๆ นั้นไม่มีขาย สุดท้ายคุณก็จำต้องตัดใจทิ้งปัญหานั้นๆ ให้คาราคาซังไว้อยู่ดี จึงไม่เกิดความพยายามในการแก้ปัญหา หรือทำให้เกิดการต่อยอดการเรียนรู้ขึ้นมาจากสิ่งที่ทดลองทำเพียงน้อยนิด
4.ไม่เกิดการเรียนรู้เรื่องการจัดการและการลงทุน เช่น ระบบ น้ำ ปุ๋ย ยา เพราะการทดลองเพียง
10 - 20 ต้นนั้น คุณจะซื้อปุ๋ยมาใส่ก็มีแต่แบบใหญ่ๆ ระบบการให้น้ำ ก็ต้องจัดการกันเต็มที่ การให้ปุ๋ยก็ต้องบริหารจัดการให้คุ้มทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี่้คุณไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย เพราะคุณปลูกน้อย คุณเดินรดน้ำได้ แต่คุณปลูกเยอะคุณต้องมีระบบการให้น้ำเข้ามาช่วย แล้วคุณจะได้เรียนรู้อะไรจากการทำเพียงเท่านี้
ภาพประกอบจาก : https://www.facebook.com/rakkaset.nungruethail
5.การจัดการเรื่องแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการทำสวน หากคุณปลูกน้อยคุณทำเองได้ แต่พอทำเป็นการค้าคุณต้องจ้างแรงงาน คุณต้องบริหารคนได้ การทดลองปลูกเพียงเล็กน้อย จึงไม่ได้สอนให้คุณได้เรียนรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานคนแต่อย่างใด หากคุณจะลงทุนปลูกเชิงพาณิชย์ คุณก็ต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่อยู่ดี
6.ช่องทางการตลาด หากคุณปลูกน้อย ปลูกไว้เพื่อทานเองหรือแจกเพื่อนฝูง ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณคิดว่าจะทดลองปลูก เพื่อหวังผลทางด้านการทำเงิน คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ระบบการตลาดด้วย และการทดลองนี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณได้คำตอบเรื่องตลาดอยู่ดี เพราะถ้าปลูกเป็นการค้า คุณต้องหาตลาด หาที่ขาย หาที่กระจายสินค้าของตนเอง แล้วคุณจะได้เรียนรู้อะไรเรื่องการตลาด
สรุป : สุดท้ายแล้วเชื่อเถอะ !! ประสบการณ์ 10 ต้น 20 ต้น นั้นไม่สามารถเอามาเป็นแบบแผนในการทำงานได้เลย ถ้าคิดจะทำเกษตรเป็นอาชีพ ขอให้ศึกษาให้เข้าใจแล้วก้าวเลย ไม่ต้องกลัว!! เพราะถ้าใจคุณกลัวตั้งแต่แรกคุณก็จะไม่มีทางสำเร็จ!! ซึ่งความรู้และประสบการณ์จากคนที่ประสบความสำเร็จจะพาคุณก้าวไปได้อย่างมั่นคงและสำเร็จได้ไม่ยาก หากคุณเดินตามถูกคนนะคะ อย่ากลัวการเริ่มต้นทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยค่ะ เพราะมิเช่นนั้นคุณจะไม่ได้ก้าวเดิน
เขียน/เรียบเรียงโดย : มินยดา อนุกานนท์