มาทำความรู้จักกับนมมันฝรั่งกัน
นมมันฝรั่ง เกิดจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของศาสตราจารย์ Eva Tornberg ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการรวมตัวกันของน้ำและน้ำมัน โดยเลือกใช้น้ำมันคาโนลากับมันฝรั่งในการทำงานวิจัย ต่อยอดโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นนมมันฝรั่ง DUG เป็นการผสมผสานมันฝรั่งกับน้ำมันเรพซีด
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.new.cision.com
ประโยชน์ของนมมันฝรั่ง
DUG ผลิตภัณฑ์นมมันฝรั่ง นมทางเลือกจากพืชที่ทำจากมันฝรั่งเป็นส่วนประกอบหลัก อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต และยังมีส่วนผสมอื่นๆอีกด้วยเช่น มอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextin) โปรตีนจากถั่วพี (Pea Protien) ใยอาหารจากชิโครี ( Chicory Fiber) น้ำมันเรพซีด (Rapeseed Oil) เป็นต้น ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 รสชาติ
รสดั้งเดิม - สำหรับทานคู่กับซีเรียล ผสมลงในสมูทตี้ ใส่ในเครื่องดื่มหรือปรุงอาหาร
รสบาริสต้า - เหมาะสำหรับใช้ในร้านกาแฟ เพิ่มความเป็นครีมให้กับเครื่องดื่มร้อนและใช้ในการทำฟองนมทุกชนิด
รสหวานน้อย - สำหรับคนไม่กินหวานซึ่งจะให้รสที่หวานน้อยกว่ารสดั้งเดิม
จุดเด่นของนมมันฝรั่ง
จุดเด่นที่ทำให้ นมมันฝรั่งเป็นที่น่าจับตามองเป็นนมที่ผลิตจากพืช (Plant Milks) 100 เปอร์เซ็นต์ และ นมมันฝรั่ง มีประโยชน์มากกว่านมข้าวโอ๊ตถึง 2 เท่า ให้ไฟเบอร์และโพแทสเซียมแร่ธาตุต่างๆแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลต และ ไนอาซิน แถมยังให้กรดโฟลิก วิตามินซี บี6 วิตามินดี แคลเซียมสูงและมีปริมาณน้ำตาลต่ำแต่ให้ไขมันอิ่มตัวสูง น้ำมันเรพซีดจะช่วยทำให้ร่างกายรับไขมันโอเมก้า 3 ผู้บริโภคที่แพ้นมวัว แลตโตส กลูเตน ถั่วเหลือง ถั่ว ก็สามารถบริโภคได้ซึ่งช่วยทดแทนอาหารเสริมสุขภาพได้
การบริโภคนมมันฝรั่งนอกจากจะเป็นอาหารทางเลือกแล้วยังช่วยในเรื่องของความยั่งยืนของสิ่งเเวดล้อมทั้งในเรื่องของพื้นที่การปลูกและกระบวนการผลิต เนื่องจากในการปลูกมันฝรั่งเป็นพืชที่ใช้น้ำในการปลูกน้อยกว่าอัลมอนด์มากกว่า 65 เท่า และใช้น้ำในกระบวนการผลิตที่น้อยกว่า เนื่องจากในมันฝรั่งมีน้ำอยู่ในตัวอยู่ในตัว และที่สำคัญกระบวนการผลิตนมมันฝรั่งหรือปลูกมันฝรั่ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเมื่อเทียบเท่ากับกระบวนการผลิตนมวัว
โอกาสทางตลาดในไทยและการส่งออก
นมจากพืช หรือ Plant Milks กำลังเป็นเทรนด์อาหารทางเลือกที่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเเละมีการใช้นมจากพืชอย่างแพร่หลาย ทั้งในร้านกาแฟ คาเฟ่ ร้านอาหาร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อเทียบตลาดไทยกับต่างประเทศแล้วยังถือว่ามีขนาดเล็กอยู่มาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมจากพืช ยังเป็นที่รู้จักแค่ในกรุงเทพฯและ ปริมณฑล ส่วนผู้บริโภคในต่างจังหวัดอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับ นมจากพืช สักเท่าไหร่ อาจเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมทางด้านการตลาด
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยมีศักยภาพทั้งเรื่องการผลิตและการปลูก พืชผัก ผลไม้ ธัญพืช เช่น ถั่ว ถั่วเหลือง มะพร้าว ข้าว มันฝรั่ง ที่สมบูรณ์ต่อการส่งออกและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ นมจากพืช แต่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งเงินทุน การทำงานวิจัย ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการผลิต จึงต้องอาศัยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนในการผลักดันให้เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารจากพืชและสามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศได้